วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แหล่งซื้อผักอินทรีย์ ส่งถึงบ้านก็ดี ซื้อตามห้างหรือร้านสุขภาพก็สะดวก


ก่อนอื่นเลยเรามารู้จักผักอินทรีย์หรือผักออแกนิคกันดีกว่าค่ะ เพราะหลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า ผักอินทรีย์คืออะไร แล้วต่างกับผักปลอดสารหรือไม่? ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจชวนให้หลายคนสับสนได้ เพราะคำว่า “ปลอด” ในภาษาไทยหมายถึง “ปราศจาก” ดังนั้นถ้าเรารับประทานผักปลอดสารแล้วแปลว่าเรารับประทานผักที่ไม่มีสารเคมีอยู่เลยใช่หรือเปล่า

อันที่จริงแล้ว ผักปลอดสาร หมายถึง ผักที่ไม่มีสารพิษตกค้าง  เป็นผักที่ยังคงมีการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีอยู่ แต่ผลผลิตที่ได้ต้องไม่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีการเว้นระยะที่จะไม่ใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวตามจำนวนวันที่กำหนด เช่น 7 วัน 15 วัน เป็นต้น ผักปลอดสารจึงยังมีสารเคมีตกค้างอยู่

ส่วนผักอินทรีย์เป็นผักที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ที่จะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของดิน ระบบนิเวศ และผู้คน ดังนั้นในการปลูกผักอินทรีย์จะไม่มีการใช้สารเคมีไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีป้องกันโรคพืช สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตลอดกระบวนการผลิต บริเวณพื้นที่ปลูกมีแนวป้องกันโดยรอบเพื่อป้องกันสารเคมีที่อาจลอยมาตามลมจากแหล่งอื่น ๆ เป็นต้น ผักอินทรีย์จึงมีความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากกว่าผักปลอดสาร

ผักอินทรีย์หาซื้อได้ที่ไหน?

เราสามารถหาผักอินทรีย์รับประทานได้จากหลากหลายแหล่ง ได้แก่
  •  ห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต
เดี๋ยวนี้หลาย ๆ ห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตมีมุมสินค้าผักอินทรีย์หรือผักออแกนิคแล้วค่ะ เช่น villa market, gourmet market, Foodland เป็นต้น ซึ่งราคาแน่นอนว่าอาจจะไม่ย่อมเยาเท่าไรนัก เนื่องจากว่าต้องมีค่าใช้จ่ายการตลาดสูง แต่ก็ยังเป็นแหล่งที่หาซื้อได้ค่อนข้างง่ายและสะดวก
  • ร้านสุขภาพหรือร้านกรีน


ปัจจุบันมีร้านสินค้าสุขภาพแบบร้านสะดวกซื้อหลายๆ แห่ง เช่น โกลเด้นเพลซ ร้านโครงการหลวง  ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ และร้านค้าอื่น ๆ เช่น ร้านเลมอนฟาร์ม สหกรณ์กรีนเน็ท ร้านโดยเฉพาะ บ้านคัดสรร เป็นต้น ซึ่งกำลังขยายตัวมากขึ้นและกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ถ้าท่านใดมีร้านสุขภาพอยู่ใกล้ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สะดวกไม่แพ้ห้างสรรพสินค้าเลยค่ะ
  • ตลาดนัดสีเขียวสัญจร


เป็นตลาดนัดที่กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพได้รวมตัวกันไปออกตลาดนัดตามพื้นที่ตามสำนักงาน แหล่งชุมชน ย่านการค้า ซึ่งมีสินค้าให้เลือกหลากหลายและทำให้ผู้บริโภคได้พบปะพูดคุยกับผู้ผลิตโดยตรง แต่ความถี่ในการมาออกตลาดนัดในแต่ละพื้นที่อาจจะเป็นเดือนละครั้งหรือสองครั้ง สัปดาห์ละครั้ง เป็นต้น
  • การเป็นสมาชิกรับผลผลิตล่วงหน้า

ตะกร้าผักอินทรีย์บ้านผักกูด จากเกษตรกรจังหวัดนนทบุรี ส่งถึงบ้านคุณ

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรับผลผลิตประเภทผักอินทรีย์เป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภครับผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร หรือที่เรียกว่าระบบ CSA (Community Supported Agriculture หรือระบบเกษตรกรรมที่เกื้อกูลโดยชุมชน) ในระบบ CSA นี้ ผู้บริโภคจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรล่วงหน้า (โดยจ่ายเงินล่วงหน้า เช่น 3 เดือน 6 เดือน เป็นต้น) เกษตรกรจะวางแผนการผลิตและปันส่วนผลผลิตส่งถึงบ้านให้กับผู้บริโภคเป็นรายสัปดาห์

ระบบ CSA นี้อาจเป็นระบบที่เกษตรกรส่งผลผลิตให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง หรือมีกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นแกนนำหรือผู้ประสานงานเช่น อาสาสมัคร หรือองค์กร  เป็นตัวกลางในการเคลื่อนย้ายผลผลิตจากแปลงเกษตรกรส่งถึงบ้านของผู้บริโภคก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่

ตัวอย่างกลุ่ม CSA ในประเทศไทย (เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล)

1.  โครงการผักประสานใจ : ผู้ผลิตเพื่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ประสานงานโดย คุณระวีวรรณ ศรีทอง เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยเกษตรกรบ้านป่าคู้ล่าง อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งรวมกลุ่มกันปลูกผักอินทรีย์ส่งตรงถึงบ้านให้กับผู้บริโภคในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

2.  ตะกร้าปันผัก ดำเนินงานโดย ป้าหน่อย ร้านเฮลท์มี (Health me) ที่ซอยราษฎร์บูรณะ 30 โดยรวบรวมผักจากเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ เช่น มูลนิธิเอ็มโอเอ จังหวัดนครราชสีมา, กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา, สวนผักสลันดาฟาร์ม จังหวัดนครปฐม, เกษตรกรที่ทำสวนผลไม้อินทรีย์ เป็นต้น เพื่อจัดส่งให้กับผู้บริโภคในจังหวัดกรุงเทพมหานคร (ส่งถึงบ้าน)

3.  กรีนพลัส กรีนแคเทอริ่ง ดำเนินงานโดย คุณน้อย ที่รวบรวมผักจากกลุ่มเกษตรกร ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ส่งถึงบ้านผู้บริโภคในจังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพฯ โซนใกล้เคียง  เช่น รังสิต เป็นต้น

4.  บ้านผักกูด ดำเนินงานโดย คุณจิ๊บ ที่รวบรวมผักจากกลุ่มเกษตรกรในอำเภอบางกรวยและอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ส่งถึงบ้านให้กับผู้บริโภคในจังหวัดนนทบุรีและโซนใกล้เคียง เช่น พุทธมณฑล เป็นต้น

ประโยชน์ของระบบ CSA
1.  ผู้บริโภคได้รับประทานผักอินทรีย์สด ๆ ที่มาจากแปลงของเกษตรกรโดยตรง รู้ว่าใครปลูกผักให้เรา สามารถตรวจสอบได้
2.   ผู้บริโภคได้ช่วยสนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์ โดยทำให้เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่ตนเองปลูก
3.   เกษตรกรสามารถวางแผนผลิตได้ล่วงหน้า เนื่องจากทราบปริมาณผลผลิตที่ต้องการก่อนล่วงหน้า
4.  ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ร่วมกันส่งเสริมการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งทำให้เกิดความยั่งยืนของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม


จากประโยชน์ของระบบ CSA จึงทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจการรับผักอินทรีย์ ส่งถึงบ้านผ่านระบบสมาชิก CSA มากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้บริโภคแต่ละท่านด้วย เพราะบางท่านอาจไม่ได้ประกอบอาหารเป็นประจำ การรับผักอินทรีย์ส่งถึงบ้านทุกสัปดาห์จึงอาจไม่สะดวก หรือบางท่านชอบที่จะเลือกผักที่ต้องการรับประทานเองมากกว่า ซึ่งระบบ CSA ส่วนใหญ่ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกผักที่ต้องการในแต่ละสัปดาห์ได้ (ผู้จัดผักจะจัดผักให้ตามฤดูกาลและตามผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้ แต่อย่างไรก็ตามโดยมากแล้วมักจะเป็นผักที่เรารับประทานได้และรับประทานกันเป็นประจำ เช่น ผักบุ้ง คะน้า เป็นต้น และมีการคละผักชนิดต่าง ๆ ให้หลากหลาย) ดังนั้นการได้เลือกซื้อเองจากห้างหรือร้านกรีนจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภคที่ไม่สะดวกจะรับผักอินทรีย์ส่งถึงบ้านผ่านระบบ CSA